โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ โภชนาการที่ดีเป็นสิ่งจําเป็นที่ทำให้คนเรามีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสามารถช่วยให้เรารักษาน้ำหนักตัวที่เหมาะสมและให้พลังงานอย่างเพียงพอต่อการทำกิจวัตรประจำวัน
โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ
โภชนาการที่ดีเป็นสิ่งจําเป็นที่ทำให้คนเรามีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสามารถช่วยให้เรารักษาน้ำหนักตัวที่เหมาะสมและให้พลังงานอย่างเพียงพอต่อการทำกิจวัตรประจำวัน หากเราได้รับสารอาหารไม่เพียงพอในแต่ละวันอาจทำให้กระดูกและกล้ามเนื้ออ่อนแอ และเกิดโรคตามมา
อายุที่มากขึ้นทำให้นิสัยการกินเปลี่ยนไป
- ความอยากอาหารและจำนวนแคลอรี่
เมื่ออายุมากขึ้น ความสามารถในการรับรสและกลิ่นของคนเราจะถดถอยลง ทำให้ความอยากอาหารลดลงไปด้วย ร่างกายของผู้สูงอายุบางรายอาจไวต่ออาหารบางชนิดเป็นพิเศษ เช่น ผลิตภัณฑ์จากนมวัว อาหารรสเผ็ด พริกไทย และหัวหอม ผู้สูงอายุยังรับประทานอาหารน้อยลงและอาจไม่ได้รับสารอาหารที่จําเป็นอย่างเพียงพอ ภาวะทุพโภชนาการจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายจะเผาผลาญแคลอรี่ได้น้อยลงด้วย เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อที่หายไปและระบบเผาผลาญอาหารที่ช้าลง ทำให้รู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่าและไม่ค่อยอยากทำกิจวัตรประจําวันอย่างเคย - โรคประจำตัว
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ช่วยป้องกันและจัดการโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และโรคกระดูกพรุน หากมีโรคประจำตัวดังกล่าว ควรลดการรับประทานอาหารที่มีโซเดียม น้ำตาล และไขมันอิ่มตัวหรือไขมันทรานส์ให้น้อยลง - ยา
เมื่ออายุมากขึ้น เรายิ่งมีแนวโน้มที่จะป่วยมากขึ้น การรับประทานยารักษาโรคบางชนิดอาจไปลดความอยากอาหารหรือความสามารถในการดูดซึมสารอาหารของร่างกาย หรืออาหารบางชนิดก็อาจไปรบกวนการดูดซึมยา จึงควรปรึกษาแพทย์ว่ามีอาหารอะไรที่ควรหลีกเลี่ยงบ้างขณะที่ต้องรับประทานยาอยู่ - สุขภาพช่องปาก
สุขภาพช่องปากที่ไม่ดี เช่น มีแผลในช่องปากหรือการใส่ฟันปลอมที่ไม่เหมาะสม อาจส่งผลต่อความสามารถในการรับประทานอาหาร ทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหารและติดเชื้อในช่องปาก - ระบบภูมิคุ้มกัน
ความเสี่ยงที่จะเป็นอาหารเป็นพิษหรือมีอาการเจ็บป่วยจากอาหารจะเพิ่มขึ้นเมื่อภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงตามอายุ จึงควรปรุงอาหารให้สุกอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารที่มีส่วนผสมของไข่ดิบ เช่น มายองเนส เป็นต้น
กิจวัตรการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพสําหรับผู้สูงอายุ
- กินอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหาร
แม้ว่าอายุที่มากขึ้นจะทำให้ร่างกายของเราต้องการปริมาณแคลอรี่ที่น้อยลง แต่คนเรายังต้องการสารอาหารในระดับเดียวกันหรือมากกว่าเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง การเลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารช่วยให้เราได้รับสารอาหาร เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่อย่างครบถ้วน โดยควรรับประทาน ผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนไม่ติดมัน ถั่ว และผลิตภัณฑ์จากนมวัวที่มีไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารขยะและจํากัดการบริโภคของทอดของมัน เครื่องดื่มรสหวาน และของหวาน - เพิ่มการบริโภคการใยอาหารในแต่ละมื้อ
กากใยอาหารช่วยป้องกันอาการท้องผูกและปัญหาทางระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ ได้ อาหารจำพวกธัญพืช ข้าวโอ๊ต ผักและผลไม้ถือเป็นแหล่งกากใยอาหารที่ดี ช่วยรักษาระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายให้เหมาะสม - ดื่มน้ำมาก ๆ
ผู้สูงอายุมักรู้สึกกระหายน้ำน้อยลง อย่างไรก็ตามการดื่มน้ำอย่างเพียงพอเป็นสิ่งสําคัญสําหรับร่างกาย โดยควรดื่มน้ำวันละ 8 แก้วและบริโภคของเหลวจากอาหารประเภทซุปหรือน้ำแกง พร้อมผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยน้ำ - รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ผู้ที่มีโรคประจําตัวอาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางชนิด ซึ่งอาจทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จึงควรพูดคุยปรึกษาแพทย์ถึงความจำเป็นของการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น วิตามินบี 12 วิตามินดี แคลเซียม และแมกนีเซียม - รับประทานอาหารกับเพื่อนและครอบครัว
การรับประทานอาหารจะน่าสนุกมากยิ่งขึ้นเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับเพื่อนหรือครอบครัว โดยจะช่วยให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้มากขึ้นและได้รับสารอาหารที่จําเป็นอย่างเพียงพอ - เลือกซื้ออาหารสำเร็จรูปที่มีประโยชน์
ผู้สูงอายุบางรายอาจต้องซื้ออาหารสำเร็จรูปรับประทาน จึงควรเลือกอาหารที่มีประโยชน์และง่ายต่อการจัดเตรียม เช่น สลัดบรรจุถุง ไก่ย่างปรุงสุก หรือผลไม้แช่แข็งที่ไม่หวาน โดยควรซื้ออาหารสำเร็จรูปที่ไม่เติมน้ำตาลและมีปริมาณไขมันและโซเดียมน้อย
ควรไปพบแพทย์เมื่อไร
หากเริ่มมีอาการไม่อยากอาหารและน้ำหนักตัวลด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุว่ามาจากอายุหรือโรคอื่น ๆ หรือไม่ หากน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นสามารถพูดคุยกับแพทย์เพื่อวางแผนการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายที่เหมาะสม ลดไขมันส่วนเกินในร่างกายและเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของข้อต่อ ผู้สูงอายุควรเข้ารับการตรวจสุขภาพร่างกายและช่องปากเป็นประจํา ซึ่งจะช่วยตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ